ความจำเป็นในการทำ Feasibility Study สำหรับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์

ความจำเป็นในการทำ Feasibility Study สำหรับ เครื่องมือแพทย์ และ อุปกรณ์การแพทย์

เมื่อการลงทุนทุกครั้งคือความเสี่ยง การจ่ายเงินออกจากธุรกิจหรือออกจากกระเป๋าเรานั้นย่อมเป็นความเสี่ยง ยิ่งต้นทุนสินค้าที่มีราคาสูงมากเท่าไรความเสี่ยงย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจสำหรับ เครื่องมือแพทย์ และ อุปกรณ์การแพทย์

เครื่องมือแพทย์ และ อุปกรณ์การแพทย์ หลายอย่างสร้างขึ้นมาเพื่อการรักษาโรคเฉพาะทาง ที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะซึ่งมักจะเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่ก็แลกมาด้วยราคาที่สูงถึงสูงมาก สำหรับสถานพยาบาลต่างๆ การได้มาซึ่งเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์เหล่านี้จำเป็นต้องซื้อมาด้วยราคาที่สูงมากและหลายครั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ได้เตรียมตัวคำนวณรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆทำให้เครื่องมือที่จัดซื้อจัดหามาใช้ได้ไม่คุ้มค่าและไม่สร้างคุณค่าได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เป็นการลงทุนที่เสียหาย ไม่คุ้มค่าเงินลงทุนและใช้เวลานานกว่าจะถึงคุ้มทุน ทำให้ไม่เพียงเสียโอกาสในการจัดสรรงบลงทุนสำหรับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆที่มีความจำเป็นมากกว่าแต่ยังทำให้อาจจะต้องขาดทุนในการลงทุน

การทำ Feasibility study หรือ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสำหรับการซื้อเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์เพื่อหาจุดคุ้มทุน รวมถึงการดูกำไรและขาดทุนจากการใช้เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ว่าเหมาะสมกับการลงทุนหรือไม่ นอกจากนี้การได้วิเคราะห์ตัวเลข cashflow หรือกระแสเงินสดนั้นยังทำให้เรามองเห็นภาพรวมของการลงทุนด้วยว่า จะสามารถต่อยอดการลงทุนได้อีกครั้งเมื่อไร ซึ่งหลักๆจะมีสามส่วนที่สำคัญซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • จุดคุ้มทุน หรือ Break Even Point นั้นเป็นตัวเลขสำคัญในการลงทุนมากๆ ซึ่งระยะเวลาการคืนทุนของการลงทุนแต่ละอย่างก็ไม่เหมือนกันแม้ว่าจะเป็นการลงทุนด้วยมูลค่าเท่ากัน เนื่องจาก รายได้และรายจ่าย (ในหัวข้อถัดไป) เป็นสิ่งที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ค่าบริการ จำนวนคนไข้ที่จะใช้บริการ ความถี่ในการใช้ในแต่ละวันหรือแต่ละช่วงเวลา และต้นทุนในการปฏิบัติงาน ทำให้จุดคุ้มทุนนั้นแตกต่างกันออกไป และในบางกรณีที่มีการกู้เงินธนาคาร ต้นทุนจะต้องจำเป็นที่จะรวมถึงดอกเบี้ยในแต่ละช่วงเวลาเข้าไปด้วย และเมื่อสร้างรายได้ให้กับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ได้ช้ากว่ารายจ่ายหรือมากกว่ารายจ่ายเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้โครงการนี้จะถึงจุดคุ้มทุนในระยะเวลาที่นาน
  • กำไรและขาดทุน เมื่อนำรายได้ทั้งหมด มาหักลบด้วยต้นทุนทั้งหมดที่ใช้ จะได้เห็นตัวเลขกำไรและขาดทุน เมื่อสะสมกำไรได้เท่ากับการลงทุน จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนได้แต่ในทางกลับกันหากในแต่ละระยะเวลานั้นตัวเลขกลับเกิดตัวเลขที่ขาดทุนเข้าสะสมมากขึ้นก็จะทำให้จุดคุ้มทุนนั้นยิ่งทวีเวลานานขึ้นและอาจจะทำให้โปรเจ็คนี้กลายเป็นโปรเจ็คที่ขาดทุนได้ การคิดรายได้และรายจ่ายนั้น จำเป็นต้องคิดให้ครบทุกด้าน ซึ่งรายได้อาจจะมาจาก ค่ารักษาพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ และอาจจะทำให้สามารถเพิ่มรายได้สำหรับค่ายา หรือว่าค่าแพทย์ขึ้นมาได้ แต่รายจ่าย ก็จำเป็นต้องรวมรายจ่ายทั้งหมดเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ย ภาษีที่เพิ่มขึ้นมา ค่าเสียโอกาสต่างๆ ค่าเสื่อมของอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายบุคคลากร ค่าบำรุงรักษาการดูแล และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมองตัวเลขผิดเพี้ยนไปก็อาจทำให้การมองกำไรและขาดทุนนั้นมีมุมมองที่ไม่ถูกต้องได้
  • กระแสเงินสด นั้นจะใกล้เคียงกับกำไรและขาดทุน แต่จะเห็นเงินสดที่รับและจ่ายออกไปจริงๆ จะทำให้เห็นว่าหากเรานำกระแสเงินสดนั้นเข้ามาพิจรณาด้วยแล้ว กระแสเงินสดที่เป็นบวกจากการดำเนินงานย่อมเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการลงทุนเนื่องจากกระแสเงินสดที่เป็นบวกนี้สามารถนำมาหมุนเวียนในธุรกิจเพื่อสร้างความคล่องตัวในการดำเนินงานได้ ไม่จำเป็นต้องดึงเงินจากส่วนอื่นมาเพื่อดำเนินงานหรืออีกนัยนึงหมายถึงว่าหากกระแสเงินสดเป็นบวกนั้น การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์นี้จะสามารถเลี้ยงดูโปรเจ็คนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเติมเงินเข้ามาในระบบ

จะเห็นได้ว่าแม้ธุรกิจโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆจะมีเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือผู้ป่วยคนไข้ให้ได้รับการรักษาที่ดีที่ถูกต้องที่สุดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนนั้นจะต้องเป็นการลงทุนที่ขาดทุนสำหรับโรงพยาบาล การเตรียมความพร้อมและวิเคราะห์เลือกเครื่องมือที่เหมาะสมในการรักษาและในเวลาเดียวกันก็ยังสามารถสร้างกำไร สร้างกระแสเงินสด และคืนทุนให้กับโรงพยาบาลในระยะเวลาที่ไม่นานทำให้โรงพยาบาลสามารถขยับขยายลงทุนในเครื่องมือการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆมาตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำ Feasibility Study จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับทุกๆธุรกิจและธุรกิจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ